ขอพรโชคลาภ การเงิน ท้าวเวสสุวรรณสามขา วัดแจ้ง บางคล้า
จุดมู ท้าวเวสสุวรรณสามขา อันโด่งดังเป็นที่เลื่องลือในจังหวัดฉะเชิงเทรานั้น ประดิษฐานอยู่ภายใน วัดแจ้ง บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา จังหวัดที่อุดมไปด้วยวัดดัง แหล่งศูนย์รวมความเชื่อ ความศรัทธาต่างๆ ทั้งสายพุทธ สายเทพเจ้าจีน หรือ สายเทพฮินดู ก็ล้วนอยู่ที่นี่ เรียกได้ว่ามาจังหวัดนี้ ก็มูได้ครบทุกศาสตร์ความเชื่อกันเลยทีเดียว ซึ่งท้าวเวสสุวรรณ เป็นหนึ่งในท้าวจตุโลกบาล ทำหน้าที่ปกปักรักษาทิศทั้ง 4 ในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา โดยท้าวเวสสุวรรณ ประจำทิศเหนือ ท้าววิรุฬหก ประจำทิศใต้ ท้าวธตรฐ หรือพระอินทร์ ประจำทิศตะวันออก และท้าววิรูปักษ์ ประจำทิศตะวันตก
ท้าวเวสสุวรรณสามขา วัดแจ้ง บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา
แรกเริ่มเดิมที ภายในวัดได้ประดิษฐานท้าวเวสสุวรรณไว้อยู่แล้ว แต่มีคนฝันว่า ท้าวเวสสุวรรณมาบอกว่า ให้สร้างท้าวเวสสุวรรณสามขาซึ่งจะเป็นขาที่ให้โชคให้ลาภเหยียบสมบัติอยู่ แทนหีบสมบัติทั้ง 7 หีบ และถือว่า ขาที่สามเป็นขาแห่งความมั่นคง เมื่อระหว่างที่สร้างยังไม่แล้วเสร็จดี ได้มีผู้มาขอโชคลาภ แล้วถูกรางวัลก้อนใหญ่จึงนำเงินมาสมทบเพื่อสร้างท้าวเวสสุวรรณสามขาเหยียบหีบสมบัติจนแล้วเสร็จดังที่เห็นในปัจจุบัน โดยสาธุชนนิยมมาขอพรองค์ท้าวเวสสุวรรณกันตอนค่ำ เชื่อกันว่า ขาที่สามจะให้โชคให้ลาภ ขอพรการเงิน ความสำเร็จ ขอคู่ครอง และโชคลาภ
บทสวดบูชาท้าวเวสสุวรรณ
จุดธูป 9 ดอก กุหลาบแดง 9 ดอก
( ตั้งนะโม 3 จบ )
“อิติปิโส ภะคะวา ยมมะราชาโน ท้าวเวสสุวรรณโณ
มะระณัง สุขัง อะหัง สุคะโต นะโม พุทธายะ ท้าวเวสสุวรรณโณ
จาตุมะหาราชิกา ยักขะพันตาภัทภูริโต เวสสะ พุสะ พุทธัง อะระหัง พุทโธ
ท้าวเวสสุวรรณโณ นะโม พุทธายะ”
เมื่อสวดขอพรจบ นิยมปิดทองที่ส้นเท้าของท้าวเวสสุวรรณ และหยอดเงินบริจาคทำบุญวัดได้ที่หีบสมบัติที่ท้าวเวสสุวรรณเหยียบได้เลย เป็นอันจบพิธี
ประวัติ วัดแจ้ง บางคล้า
วัดแจ้ง สร้างขึ้นในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อ พ.ศ. 2285 (ที่มาจาก หนังสือประวัติวัด ทั่วราชอาณาจักร เล่ม 19 กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ) เหตุที่มาของชื่อวัดแจ้งเนื่องจาก สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ต่อมาคือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี ) แล้วยกทัพกลับมาถึงบริเวณนี้ในตอนเช้าตรู่ เมื่อครั้งไปตีเมืองเขมร ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า วัดแจ้ง
จุดเด่นของวัดแห่งนี้คือ อุโบสถหลังเดิมที่สร้างโดยหลวงประกาศคดี เมื่อ พ.ศ. 2475 ต่อมาได้มีการรื้อถอนและสร้างอุโบสถหลังใหม่ขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2479 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 โดยความเลื่อมใสศรัทธาของคุณยายเจียม เงี่ยมอื๊อ เศรษฐีนีชาวบางคล้า พร้อมด้วยประชาชนทั่วไป คุณยายเจียม ได้บริจาคเงินสร้างอุโบสถวัดแจ้ง เป็นจำนวนเงิน 70,000 บาท โดยอุโบสถหลังนี้ได้ใช้ช่างสิบหมู่จัดทำ ทำให้มีสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น เป็นศิลปะแบบไทยผสมจีน
นายเสรี วสุพันธ์ นายอำเภอบางคล้า กำลังมอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย ให้แก่ “คุณยายเจียม เงี่ยมอื้อ” เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2507 ที่บ้านคุณยายเจียม เงี่ยมอื้อ
ภายในอุโบสถด้านหน้า ประดิษฐานเหรียญพระบรมรูปรัชกาลที่ 8 สร้างเป็นที่ระลึกในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จนิวัฒน์ประเทศไทย พร้อมด้วยสมเด็จพระราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ และสมเด็จพระอนุชาธิราช เพื่อทรงเยี่ยมเยียนพสกนิกรของพระองค์ในคราวปิดภาคเรียน เมื่อพฤศจิกายน พ.ศ. 2481 เหรียญมีลักษณะ กลมแบน ขอบเรียบ มีวงเส้นเป็นชั้นๆ บนขอบเหรียญด้านหน้า เป็นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ระดับพระอุระผินพระพักตร์ทางเบื้องขวาของเหรียญ ริมขอบมีพระปรมาภิไธย “สยามินทร์” และ “อานันทมหิดล” มีจุดไข่ปลาอยู่โดยรอบริมขอบ ด้านหลัง มีข้อความว่า“นิวัฒน์ พระมหานคร 2481” สร้าง พ.ศ. 2481
ภายในอุโบสถประดิษฐานองค์จำลองพระพุทธชินราชเป็นพระประธาน โดยถ่ายแบบมาจากวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร กรุงเทพฯ ส่วนผนังรอบอุโบสถประดับลายไทยและรูปปั้นเทพพนม ส่วนประตูอุโบสถเป็นประตูไม้แกะสลักพุทธประวัติ ทศชาติชาดก
พระพุทธชินราช
ความเก๋ของสถาปัตยกรรมการตกแต่งอุโบสถวัดแจ้งยังไม่หมดแต่เพียงเท่านี้ หากสังเกตกันให้ดี หน้าบันชั้นกลาง มีรูปเทวดาในซุ้มเรือนแก้ว 5 องค์และมีเทวดาลอยอยู่เหนือซุ้มเรือนแก้ว 6 องค์ เทวดาจะพูดเป็นตัวอักษรลอยออกมา ซึ่งมีข้อความเรียงจากซ้ายไปขวา ดังนี้ องค์แรกพูดว่า “รอคนแก่ด้วยโว้ย” องค์ที่ 2 พูดว่า “วิ่งเข้าเว้ย” องค์ที่ 3 พูดว่า “ไปวิมาน” องค์ที่ 4 พูดว่า “ไปนิพพาน” องค์ที่ 5 พูดว่า “มาเถิด” องค์ที่ 6 พูดว่า “คอยด้วยโว้ย” เหล่านี้แสดงถึงอารมณ์ขันของศิลปินผู้สร้าง
ไหว้พระ ทำบุญ ขอพรอิ่มใจกันแล้ว ก็สามารถมาอุดหนุนพ่อค้าแม่ขายในชุมชนวัดแจ้งได้ที่ ตลาดน้ำวัดแจ้ง กันต่อซื้อของฝากติดไม้ติดมือก่อนกลับกันได้
ภาพโดย แพรว
ที่อยู่ : 43 ถนนระเบียบกิจอนุสรณ์ ตำบลบางคล้า อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา 24110
Google map : https://maps.app.goo.gl/NCsiY2f1h4VZYQdQ8
เวลาทำการ : 06.00 น. – 18.00 น.
เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
กราบขอพรท้าวเวสสุวรรณ วัดสายอำพันธ์เอมสาร ดอนเมือง
ทริกขอพรการเงิน ท้าวเวสสุวรรณ วัดสุทธาราม คลองสาน กทม.
ท้าวเวสสุวรรณ ปางเปิดทรัพย์ วัดสระเกศ ขอพรการเงิน การงาน โชคลาภ